“เปรียญธรรม”
ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
เปรียญธรรม ๙ ประโยค
“เปรียญธรรม”
“เปรียญธรรม” อ่านว่า ปะ-เรียน-ทำ
“เปรียญธรรม” เป็นคำเรียกความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลี ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.”
ประกอบด้วย เปรียญ + ธรรม
“เปรียญ”
“เปรียญ” อ่านว่า ปะ-เรียน
“เปรียญ” มีที่มาของคำนี้
(1) กลายรูปและเสียงมาจากคำว่า “ปริญญา”
ปริญญา ปเรียญญา ปเรียญ เปรียญ
“ปริญญา” บาลีว่า “ปริญฺญา”
“ปริญฺญา” แปลว่า ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความเข้าใจ, ความรู้รอบ (knowing , understanding)
(2) มาจากคำว่า “บาเรียน”
บาเรียน บเรียน ปเรียน เปรียน เปรียญ
(3) “ปราชญ์เรียน”
“ธรรม”
“ธรรม” บาลีว่า “ธมฺม” (ทำ-มะ)
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม”
ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤต “ธรรม”
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช)
มีนามเดิมว่า สุวิทย์ ปิยวิชชานันท์ เกิดที่บ้านเหล่าหลวง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่วัดอัมพวัน(บ้านม่วง) ตำบลคอนสาย อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระครูปภัสสรศีลคุณ (หลวงปู่ทัน ปภสฺสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยคที่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
จนถึงปีพ.ศ.2523 พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) ได้พาสามเณรสุวิทย์เข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อจนครบอายุบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหารแล้วศึกษาต่อจนสำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
เมื่อสมเด็จพระญาณสังวรได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระมหาสุวิทย์ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการ ท่านเป็นศิษย์อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างแตกฉาน แล้วพยายามนำเนื้อหาในพระไตรปิฎกมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย โดยท่านพยายามแต่งเป็นหนังสือและผลิตวีซีดีออกเผยแผ่มากที่สุดท่านหนึ่งในหมู่พระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
หลังจากปฏิบัติศาสนกิจในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรได้ไม่นาน ได้รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างศึกษาท่านได้เดินทางไปบรรยายพุทธธรรมตามโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย หลายแห่งจนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธในอังกฤษ จนกระทั่งองค์กรพุทธในอังกฤษได้ขอร้องให้ท่านช่วยสร้างพระพุทธรูปเพื่อนำไปประดิษฐ์สถานยังศูนย์ปฏิบัติธรรมหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ดังนั้นพระราชญาณกวีจึงเป็นผู้นำในการดำเนินการจัดหล่อพระพุทธรูปบ่อยครั้งมาก
ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก พระราชญาณกวีจึงได้ย้ายจากวัดบวรนิเวศวิหารไปจำพรรรษาที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกจนถึงปัจจุบัน ยังคงทำงานในสายวิชาการและเผยแผ่ธรรมะ ส่งเสริมสามเณรในโครงการกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาท เป็นพระนักเขียนโดยใช้นามปากกาว่า”ปิยโสภณ” มีผลงานในรูปแบบหนังสือและสื่อดิจิทัลอยู่เป็นระยะ มีผลงานสำคัญคือการจัดทำหนังสือพจนานุกรมบาลี – ไทย อรรถกถาธรรมบท ร่วมกับอาจารย์บุญสืบ อินสาร ป.ธ.9 เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุและสามเณร
กิตติคุณพิเศษ
สิ่งที่พระราชญาณกวีได้กระทำและเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการพุทธศาสน์ศึกษาในโลกก็คือการเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานที่สำคัญที่สนับสนุนการก่อตั้งศูนย์พุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยท่านเป็นผู้ดำเนินการประสานงาน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระปรมาภิไทยให้ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด นำไปใช้เป็นชื่อตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านพระพุทธศาสนา ขณะนี้ พระศรีญาณโสภณกำลังประสานงานกับรัฐบาลใหม่เพื่อหาทุนสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
การศึกษา
เปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ (ศศ.บ.) เกียรตินิยม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
MA วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (ทุนพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ)
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น เปรียญธรรม ๙ ประโยค
๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระศรีญาณโสภณ
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชญาณกวี ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
เปรียญธรรม๙ประโยคปีพระพุทธศักราช๒๕๓๐
ประโยคเก้าเข้าสอบกันทั่วหน้า
ปีสองห้าสามศูนย์วิบูลย์ผล
ยี่สิบรูปสมสงฆ์มิ่งมงคล
เณรเลิศล้นห้ารูปผ่านเชี่ยวชาญดี
เป็นตัวอย่างทางบาลีมีมอบให้
ทุกท่านได้ชื่นชมสมราศี
กำลังใจใฝ่เรียนเพียรบาลี
ตราบเท่าที่ถึงฝั่งฝันทุกวันคืน
อนุสรณ์แก่นักเรียนเพียรศึกษา
พัฒนาทุกเส้นทางอย่างแช่มชื่น
ประโยคหนึ่งถึงเก้าไกลให้ยั่งยืน
เพื่อพลิกฟื้นสมสง่าบาลีเราฯ
ขอบคุณบทกลอน
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.
ขอบพระคุณข้อมูลรูปภาพ
Samnaing Leurmsai
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5844583155572115&id=100000614661172
เรียบเรียงโดย
กลุ่มภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙















