“ยะลา”

ภาษาบาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า
จังหวัดยะลา

อันยะลาเรียกว่าแหแต่ก่อนเก่า
ครั้งเจ้าเมืองคนแรกตั้งยังกล่าวขาน
ใต้สุดแคว้นแดนสยามเป็นตำนาน
ชายแดนผ่านเมืองน่าอยู่คู่โลกา

จุดศูนย์กลางใจเมืองรุ่งเรืองนัก
เป็นประจักษ์ความมุ่งมั่นอย่างหรรษา
สมกับชื่อเลื่องลือถิ่นเมืองยะลา
ล้วนก้าวหน้าก้าวไกลคู่ไทยเราฯ

“ยะลา”
คำว่า “ยะลา” เป็นภาษามลายู หรือสำเนียงภาษามลายูพื้นเมืองเรียกว่า “ยาลอ”  แปลว่า “แห” ซึ่งเป็นคำยืมมาจาก ภาษาบาลีสันสกฤตว่า “ชาละ” หรือ “ชาลี”

“ชาลี”
“ชาลี” แปลว่า “ผู้มีข่าย”
“ชาลี” คำเดิมคือคำว่า “ชาล”
“ชาล” บาลีอ่านว่า ชา-ละ
“ชาล” มีรากศัพท์มาจาก (1) ชล ,(2) ชลา
“ชาล” หมายถึง ตาข่าย; ร่างแห, เครื่องกีดกัน ,หลุมพราง, การหลอกลวง

ประวัติจังหวัดยะลา
เหตุที่เรียกชื่อว่ายะลานั้นเพราะพระยาเมืองคนแรกได้ตั้งที่ทำการขึ้นที่บ้านยะลา และมีภูเขาลูกหนึ่งในเขตอำเภอเมืองยะลามีลักษณะเหมือนแหจับปลา โดยผูกจอมแหแล้วถ่างตีนแหไปโดยรอบ ผู้คนจึงเรียกภูเขานี้ว่า ยะลา หรือ ยาลอ แล้วนำมาตั้งนามเมือง จึงเป็นที่มาของจังหวัดยะลา คำว่า “ยะลา” มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า “ยะลอ” ซึ่งแปลว่า “แห”

ตามประวัติตั้งแต่สมัย สุโขทัยถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสิทร์นั้น “เมืองยะลา” เป็นส่วนหนึ่งของเมืองมณฑลปัตตานี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าให้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล โดยออกประกาศข้อบังคับสำหรับการปกครอง ๗ หัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ ซึ่งประกอบด้วย เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และเมืองรามัน ในแต่ละเมืองมีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานี และได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน “เมืองยะลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน”

สำหรับเมืองยะลา ได้มีการโยกย้ายที่ตั้งมาแล้ว ๔ ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ ๑ ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา ครั้งที่ ๒ ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลท่าสาป (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๓ ได้ย้ายไปตั้งที่เมืองสะเตง (ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๔ ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลบ้านนิบง ในสมัยอำมาตย์โทพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คนที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๕๘) ได้วางผังเมืองด้วยการหาจุดศูนย์กลางใจเมือง โดยการปักหลักไว้และเอาก้อนหินวางไว้เป็นเครื่องหมาย เรียกว่า “กิโลศูนย์” และลากเส้นวงกลมเป็นชั้น ๆ มีถนนรองรับเป็นตาข่ายลักษณะใยแมงมุมที่สวยงามที่สุดของประเทศไทยและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดความสะอาด ๓ ปีซ้อน (พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๓๐) และในปี ๒๕๔๐ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกยกให้เป็น ๑ ใน ๕ เมืองของประเทศไทยในโครงการเมืองน่าอยู่ทั่วโลก

ตราประจำจังหวัด
รูปเหมืองแร่ดีบุก หมายถึง พื้นที่ของจังหวัดยะลาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก และอาชีพหลักของประชาชนในอดีต คือ การทา เหมืองแร่ดีบุก

คำขวัญประจำจังหวัดยะลา
“ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

ภาษาบาลีวันละคำ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ประธานโครงการ
พระราชญาณกวี (ปิยโสภณ)
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แต่งกลอนประกอบ
พระมหารัตนกวี ธมฺมโฆสโก
วัดนางชี ภาษีเจริญ กทม.

ค้นคว้า – วิเคราะห์
พระเจสัน ขันติโก วัดลาดปลาเค้า กทม.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *